ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


จำนวนผู้อ่านบทความ : 356

   ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันสูง อันส่งผลให้ให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับตัวเองเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงการรวมกลุ่มการค้ากันของประเทศต่างๆ อาทิ สหภาพยุโรป และเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบเมื่อปี 2545 ให้จัดตั้ง “ประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน” ภายในปี 2558 เพื่อส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายเงินทุน สินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือระหว่างประเทศสมาชิกโดยเสรี ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ลดช่องว่างของระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียน และส่งเสริมให้อาเซียนสามารถรวมตัวเข้ากับประชาคมโลกได้อย่างไม่อยู่ในภาวะ ที่เสียเปรียบ

กระบวนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักในการที่จะทำให้อาเซียนบรรลุสู่การเป็น “ประชาคมอาเซียน” ภายในปี 2558 มีรากฐานมาจากนำความร่วมมือและความตกลงทางเศรษฐกิจที่อาเซียนได้ดำเนินการ มาระยะหนึ่งแล้ว มาต่อยอดให้มีผลเป็นรูปธรรมและมีความแบบแผนมากยิ่งขึ้น อาทิ ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน ความตกลงด้านการส่งเสริมการลงทุนอาเซียน ความตกลงด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาเซียน

ประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขยายปริมาณการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค ลดการพึ่งพาตลาดในประเทศที่สาม สร้างอำนาจการต่อรองและศักยภาพในการแข่งขันของอาเซียนในเวทีเศรษฐกิจโลก เพิ่มสวัสดิการและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนของประเทศสมาชิกอาเซียน บนหลักการของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ การประหยัดต่อขนาด การแบ่งงานกันทำ และการพัฒนาความชำนาญในการผลิตของประเทศสมาชิกอาเซียน

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ อ. ชะอำ อ. หัวหิน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับรองพิมพ์เขียวว่าด้วยการดำเนินงาน ไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งกำหนดกรอบและกิจกรรมที่จะทำให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมทาง เศรษฐกิจภายในปี 2558 โดยในปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติตามพิมพ์เขียวดังกล่าว

ทังนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่จะมีการหารือเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือความร่วมมือ ด้านอาหารและพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งคลังสำรองข้าวในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งไทยผลักดันให้มีการจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย จะทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกและพี่น้องเกษตรกรของ ไทยได้รับประโยชน์โดยตรง ทั้งจากการจำหน่ายข้าวเพื่อจัดเก็บในคลังสำรองข้าว และการติดตามตรวจสอบปริมาณและความต้องการข้าวภายใต้เครือข่ายข้อมูลของคลัง สำรองข้าวซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการวางแผนการผลิตและจำหน่ายข้าวของไทย

อีกประเด็นสำคัญที่จะมีการหารือคือความร่วมมือด้านการ เงินระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในการจัดตั้งกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินการคลังในภูมิภาค โดยเฉพาะในกรณีเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจการเงิน ตลอดจนส่งเสริมการค้า การลงทุน เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนทุกคนในภูมิภาค

นอกจากนี้ การจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ซึ่งจะมีการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งนี้ จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความร่วมมือกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศนอกอา เซียนในทุกๆ ด้าน รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากการมีกลไกทางด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรมจะทำให้อาเซียนเป็น ที่ยอมรับของนานาประเทศมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนลดเงื่อนไขที่ประเทศคู่ค้าสำคัญในประเทศตะวันตกจะนำไปใช้กำหนด มาตรการที่มีผลกีดกันทางการค้า อาทิ การส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยไปยังสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาแรงงาน เด็ก เป็นต้น

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ

1. อาเซียนเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความใกล้ชิดไทยมากที่สุด - ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศเป็นเพื่อบ้าน มีพรมแดนติดกัน มีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึง มีสินค้าและบริการที่สามารถเสริมซึ่งกันและกันได้ หรือมีสินค้าบริการที่คล้ายคลึงกันซึ่งหากสามารถร่วมมือกัน ก็จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งในด้านอำนาจการต่อรอง อันจะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนทางเสรษฐกิจการค้าที่มีความสำคัญยิ่ง

2. การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้เกิดตลาดในภูมิภาคขนาดใหญ่ - โดยสามารถนำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาเสริมกับจุดแข็งประเทศไทย เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดในการผลิต ส่งออก และบริการ ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรีมากขึ้น นอกจากนี้ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยให้ประเทศสมาชิกมีความเป็นปึกแผ่นและ ช่วยสร้างอำนาจการต่อรองในเทีต่างๆ มากขึ้น

3. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยส่งเสริมให้เกิการขยายตัวในด้านการค้าและการลงทุนของไทย - เนื่องจากการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะก่อให้เกิดการยกเลิกหรือลดอุปสรรคในการ เข้าสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคด้านภาษีหรือมาตรการทางการค้าอื่นๆ ที่มิใช่ภาษี เนื่องจากประเทศสมาชิกจะแสวงหาความร่วมมือเพื่อลด/ขจัดอุปสรรคต่างๆ เหล่านั้น รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

4. ประชาคมเศรษฐกิจจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เริ่มปรับตัวและเตรียมความพร้อม - กับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและใช้โอกาสที่เกิจากการลดอุปสรรคทางการ ค้าและการลงทุนต่างๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสาขาที่ไทยมีความพร้อมและมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง

5. เสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการภายในประเทศ - จากการใช้ทรัพยากรในการผลิตร่วมกันและการเป็นพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจ ระหว่างประเทศ จากการขจัดอุปสรรคในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก

6. ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน - จากการดำเนินตามแผนงานในด้านการลดอุปสรรคทั้งด้านการค้าและการลงทุน และการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค

 

ที่มา : http://www.mfa.go.th/asean