ประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง)
จำนวนผู้อ่าน : 55
ในพงศวดาโยนกและจามเทวี มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในแคว้นหริภุญไชย (หรือหริภุญชัย) ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่เมืองหงสาวดีนานถึง 6 ปี จึงจะเดินทางกลับมายังบ้านเกิดเมืองเดิมได้ เมื่อเวลาเวียนมาถึงวันที่จากบ้านจากเมืองไป จึงได้มีการทำกระถางใส่เครื่องสักการบูชา ธูปเทียนลอย ลอยตามน้ำเพื่อให้ไปถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไป เรียกว่า การลอยโขมด หรือลอยไฟ
ประเพณียี่เป็ง จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็น "วันดา" หรือวันจ่ายของเตรียมไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ครั้งถึงวันขึ้น 14 ค่ำ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยและผู้มีศรัทธาก็จะพากันไปถือศีลฟังธรรม และทำบุญเลี้ยงพระที่วัด มีการทำกระทงขนาดใหญ่จั้ดไว้ที่ลานวัด ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้ ใครจะเอาของมาร่วมสบทบด้วยก็ได้ เพื่อเป็นทานแก่คนยากจน และในวันขึ้น 15 ค่ำ จึงนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็ก ๆ ของส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ
ในงานบุญยี่เป็งนอกจากจะมีการปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์มหาชาติตามวัดวาอารามต่าง ๆ แล้ว ยังมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน และถนนหนทางด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา พอตกกลางคืนก็จะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทองพร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางประติ๊ด )เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งการจุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม และการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามความเชื่อการปล่อยว่าวไฟหรือโคมลอยนี้ เพื่อให้นำเอาเคราะห์ร้าย ภัยภิบัติต่าง ๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้น ว่าวหรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไปถ้าไปตกในบ้านใคร บ้านนั้นต้องจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อล้างเสนียดจัญไรทั้งปวงออกไป นอกจากนี้ ยังถือกันว่าเป็นการทำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ และเพื่อความสนุกสนาน สร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้านอีกด้วย
ที่มา www.kapook.com